จากบทความก่อนหน้าเราได้เห็นภาพรวมของผลงานการออกแแบบสถาปัตยกรรมของพี่จ๊อบ Time Machine Studio ในช่วงชั้นปีที่ 1-2 กันไปแล้ว เชื่อว่าจะช่วยให้น้องๆได้ทราบถึงการเรียนการสอนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์กันมากขึ้นไม่มากก็น้อย ในบทความนี้พี่ๆ จาก Time Machine Studio จึงอยากหยิบยกผลงานเพิ่มเติมในช่วงชั้นปีที่ 3-4 ของพี่จ๊อบมาเล่าให้ฟังพอสังเขปกันต่อ เพื่อให้น้องๆ ได้เห็นภาพและเข้าใจว่า คณะสถาปัตย์ โดยเฉพาะภาควิชาสถาปัตย์หลักนั้น เขาเรียนอะไรกันบ้างนั่นเอง
ผลงานการเรียนสถาปัตย์ในชั้นปีที่ 3
จะกล่าวว่าในช่วงชั้นปีที่ 3 เป็นชั้นปีที่เหนื่อยที่สุดของบรรดานิสิตนักศึกษาสถาปัตย์เลยก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นชั้นปีที่เริ่มได้ทำงานออกแบบที่มีความหลากหลายของโจทย์ที่มาก ทั้งขนาด การใช้สอย ระบบโครงสร้าง และมิติของที่ตั้งเลย แต่ถึงจะเหนื่อยมากก็เต็มไปด้วยความสนุก เนื่องจากจะเป็นช่วงที่ได้ลองอะไรใหม่ๆ มากที่สุดเเล้ว โดยผลงานที่หยิบยกมาเล่ากันในวันนี้เป็นโครงการที่พี่จ๊อบบอกว่า น่าจดจำที่สุดตลอดการเรียนในคณะสถาปัตย์ 5 ปี ซึ่งก็คือ โครงการการออกแบบตลาดท่าเตียนนั้นเอง โครงการนี้มีโจทย์เป็นการออกแบบอาคารร้านค้าลงในพื้นที่ตั้งที่มีความพิเศษและน่าสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งก็คือเป็นพื้นที่บริเวณตลาดเก่าท่าเตียนที่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างวัดโพธิ์ และวัดอรุณ อีกทั้งพื้นที่ทั้งหมดยังถูกรายล้อมด้วยตึกแถวโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 อีกด้วย ทำให้โครงการนี้มีความสนุกอยู่ที่การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ลงบนที่ตั้งที่มีความเก่าเเก่และต้องออกแบบงานสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องไปกับสถาปัตยกรรมเดิมต่างๆ ที่มีความสำคัญมากโดยรอบ โครงการนี้พี่จ๊อบออกแบบโดยการหยิบยืมลักษณะที่ซับซ้อนของเขาวงกตมาสร้างประสบการณ์การเดินจับจ่ายใช้สอยของคนในสถาปัตยกรรมใหม่โดยผสมกับลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของโบราณสถาณโดยรอบอย่างวัดและวังซึ่งก็คือ ย่อมุม จนเกิดเป็นเขาวงกตร้านค้าใหม่ที่สร้างเรื่องราวใหม่ๆ ที่น่าค้นหาตลอดอาคาร นอกจากเเนวคิดในการวางผังอาคารและการออกแบบที่ว่างเเล้ว การหยิบยืมวัสดุจากอาคารโบราณสถานโดยรอบมาใช้ ช่วยสร้างบรรยากาศเฉพาะที่แปลกตาออกไป ภาษาของสถาปัตยกรรมไทยประเพณีโดยรอบถูกนำมาจัดเรียงใหม่ในตำแหน่งใหม่เกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่แปลกตาหลังใหม่ ที่อาจจะยังไม่ใช่สถาปัตยกรรมที่สวยลงตัวกลมกล่อมแต่แฝงด้วยความสนุกและความกล้าที่ได้ลองนำเสนอเรื่องราวเก่าๆ ออกมาในรูปแบบใหม่ๆ
ผลงานการเรียนสถาปัตย์ในชั้นปีที่ 4
ในชั้นปีที่ 4 สำหรับนิสิตสถาปัตย์นั้น เป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้และสัมผัสเรื่องราวหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพจริง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในเรื่องของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพสถาปัตย์ ไปจนถึงโครงสร้างและงานระบบในอาคารขนาดใหญ่เลยทีเดียว ทำให้โปรเจคงานออกแบบในชั้นปีที่ 5 นี้ เป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษทั้งหมดทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย โรงมหรสพ สถานฑูต โรงพยาบาล หรือ อาคารประเภทพิพิธภัณฑ์ก็ดี ทั้งหมด เพื่อให้นิสิตที่กำลังจะเข้าสู่การทำผลงานวิทยานิพนธ์ในชั้นปีที่ 5 ได้ค้นพบประเภทอาคารที่ตนสนใจในการเลือกมาออกแบบผลงานวิทยานิพนธ์นั่นเอง ผลงานที่จะหยิบยกมาเล่าได้เเก่โครงการสุดหินซึ่งเป็นสิ่งที่นิสิตสถาปัตย์ทุกคนล้วนต้องได้ออกแบบนั่นก็คือ โครงการโรงพยาบาล นั่นเอง
โครงการโรงพยาบาลเป็นโครงการที่เต็มไปด้วยข้อมูลความรู้เฉพาะทางของผู้ใช้งานอาคารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ บุคคลทั่วไป รวมถึง บุคคลากรทางการเเพทย์ ทำให้จำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจหลักการออกแบบเป็นอย่างมาก เป็นโครงการที่มีรายละเอียดของพื้นที่ใช้สอยที่ซับซ้อน ตัวอย่างเช่น การแยกเส้นทางสัญจรของคนไข้และบุคคลาการทางการแพทย์ไม่ให้มาปะปนกัน การแยกเส้นทางเดินสะอาดและสกปรกในพื้นที่บริเวณห้องผ่าตัด การจัดการระบบแรงดันภายในอาคารเพื่อควบคุมการไหลของอากาศติดเชื้อต่างๆ การนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ในอาคารโรงพยาบาลถือเป็นเรื่องที่ท้าทายเเละสำคัญมาก ดังนั้น โครงการโรงพยาบาลจึงวัดความสามารถของผู้ออกแบบในหลายด้านโดย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการพื้นที่ใช้สอยภายใน หรือเรื่องรวมความสวยงามของที่ว่างทางสถาปัตยกรรม ควรออกแบบไปพร้อมๆ กันอย่างลงตัว เป็นโปรเจคที่สร้างการอดนอนให้เหล่าบรรดานิสิตสถาปัตย์กันอยู่ไม่น้อย ภาพตัวอย่างด้านล่าง เป็นภาพตัวอย่างการวางผังของอาคารโรงพยาบาลในส่วนของคลีนิคและห้องผ่าตัดที่มีความซับซ้อนของระบบทางเดินเป็นอย่างมาก