ทาดาโอะ อันโดะ
TADAO ANDO
หากลองถามนักเรียนออกแบบหรือนักเรียนสถาปัตยกรรม ว่าใครคือสถาปนิกที่ชื่อชอบเเล้วนั้น เชื่อได้ว่าชื่อของ ทาดาโอะ อันโดะ ต้องเป็นหนึ่งในคำตอบของหลายๆคนอย่างแน่นอน การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ประสานกลมกลืนเป็นหนึ่งกับธรรมชาติโดยรอบ อย่างแสงธรรมชาติ อุณหภูมิภายนอก และสภาพแวดล้อมโดยรอบ ถือเป็นพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมของงานออกแบบทุกๆชิ้นที่ ทาดาโอะ อันโดะ ได้ทำ
จากนักมวยหมุ่มบ้านนอกที่เติบโตมากับครอบครัวเล็กๆในบ้านไม้พื้นถิ่นหลังเล็กๆในเมืองโอซาก้า สู่สถาปนิกผู้ได้รับรางวัลสูงสุดระดับโลกในวงการการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่าง The Pritzker Architecture Prize ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดจากการไฝ่รู้และพยายามพัฒนาตนเองของ ทาดาโอะ อันโดะ อย่างทุ่มเท หลังจากเริ่มต้นชีวิตวัยรุ่นด้วยการเป็นนักมวยอาชีพจนได้โอกาศทำงานออกแบบอาคารเล็กๆในบ้านเกิดจนมีชื่อเสียงมากขึ้น ในช่วงอายุ 24 ปี อันโดะตัดสินใจออกเดินทางไปดูงานสถาปัตยกรรมต่างๆที่ต่างประเทศถึง 4 ปี ก่อนจะกลับมาเปิดบริษัทออกแบบของตนเองจนได้ออกแบบสถาปัตยกรรมอันทรงค่าต่างๆตามมามากมาย
จากบทสัมภาษณ์หนึ่งที่อ้างอิงมากจากหนังสือ ทาดาโดะ อันโดะ ได้กล่าวไว้ว่า ผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของเขานั้นเกิดจากการสั่งสมความรู้ความสามารถต่างๆผ่านประสบการณ์ชีวิตมาตั้งแต่เล็กก่อนเข้าวงการการออกแบบสถาปัตยกรรมเสียด้วยซํ้า ประสบการณ์จากการเป็นนักมวยอาชีพในวัยเด็ก การอยู่อาศัยกับคุณย่าในบ้านเก่าเเก่ซึ่งหนาวเหน็บในฤดูหนาว รวมถึงความชอบส่วนตัวในเรื่องของเทคนิคงานช่างที่เกิดจากการสั่งสมจากการสอบถามเรียนรู้จากร้านทำเฟอร์นิเจอร์ไม้แถวบ้านและร้านนํ้าชาพื้นถิ่นในวัยเด็ก ล้วนสอนให้เขาฝึกที่จะอยู่กับความคิดของตัวเองและกลั่นกรองทุกๆอย่างอออกมาเป็นผลงานออกแบบของเขาเอง
สถาปัตยกรรมของ ทาดาโอะ อันโดะ มีการนำแสงธรรมาชาติเข้ามาใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างเกินคุ้ม ประกอบกับการใช้วัสดุที่มีเอกลักษณ์อย่างคอนกรีตเปลือย ก็ทำงานร่วมกับแสงที่ส่องเข้ามาในสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดี ทำให้พื้นที่ภายในสถาปัตยกรรม ดูมีชีวิต และเเตกต่างกันออกไปในช่วงเวลาต่างๆตลอดทั้งวัน ผลงานชิ้นสำคัญอย่าง AZUMA ROW HOUSE , CHURCH OF LIGHT และ CHICU ART MUSEUM แสดงให้เห็นถึงแนวคิดดังกล่าวและพัฒนาการของงานออกแบบสถาปัตยกรรมของ ทาดาโอะ อันโดะ ได้อย่างชัดเจน
แสงธรรมชาติมีบทบาทสำคัญในการสร้างชีวิตและบรรยากาศที่ดีในผลงานออกแบบสถาปัตยกรรม อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานทางการออกแบบสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่ช่วยให้อาคารสามารถประหยัดพลังงานและช่วยเพิ่มความงามให้กับงานออกแบบสถาปัตยกรรมอีกด้วย หากลองสังเกตผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมของ อันโดะ เราจะพบว่ามีการออกแบบเเละคำนึงถึงเรื่องนี้อยู่เป็นอย่างมากและแสงธรรมชาติเหล่านี้ยังส่งผลดีต่อผนังคอนกรีตเปลือยของเขาเป็นอย่างมากอีกด้วย ตัวอย่างแรกที่เห็นได้ชัดก็คือการนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ในการออกแบบผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นโบแดงของเขาอย่าง Church of Light โดยเราจะพบว่ามีการนำแสงธรรมชาติเข้ามาสู่ที่ว่างภายในอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเจาะผนังเป็นช่องรูปไม้กางเขนบริเวณผนังด้านหน้า หรือ การเว้นช่องว่างเล็กๆบริเวณมุมหรือรอยต่อของผนังเเต่ละระนาบเพื่อให้เกิดการเข้ามาของแสงแบบ indirect light ก็ล้วนทำได้อย่างน่าอัศจรรย์