รีวิวการสอบ part ที่ 3 ข้อที่ 1 ( perspective )
Perspective Design : Chinese New Year night at chinatown
ก่อนอื่นพี่ๆอยากขอสรุปเนื้อหาโดยของโจทย์อย่างง่ายเพื่อประกอบการตีความและให้น้องๆเข้าใจถึงรายละเอียดที่โจทย์ถามหาโดยสังเขปกันก่อน โดยโจทย์ในการสอบ CUTAD ครั้งนี้นั้นมีเนื้อหาอยู่ประมาณว่า
วันนี้เป็นวันตรุษจีน ซึ่งเป็นวันที่พวกเราได้ไปเยี่ยมคุณปู่และคุณย่ากันมา หลังจากกลับจากบ้านคุณย่า เราได้นั่งรถแท็กซี่ไปแวะทานอาหารกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในย่าน chinatown ใจกลางเมือง โดยรถแท็กซี่ได้ส่งเราที่บริเวณซุ่มทางเข้าของย่าน chinatown โดยซุ้มทางเข้านี้ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่ที่เป็นลักษณะของวงเวียน โดยตัวซุ้มแห่งนี้มีลักษณะเป็นซุ้มเสาคู่ ที่ตั้งขึ้นไปรับหลังคารูปทรงปั้นหยา ( hip roof ) ที่วางซ้อนกันสองชั้นอยู่บนคานยื่นเหนือเสาคู่นั่นเอง ซุ้มนี้มีการประดับตกแต่งไปด้วยสีทองและสีแดงดูโดดเด่น เบื้องหลังของซุ้มเป็นถนนที่นำสายตาไปสู่บรรดาาตึกแถวต่างๆในย่าน chinatown แห่งนี้ เบื้องหลังของซุ้มทางเข้าทางด้านซ้ายเราจะพบกับวัดแห่งหนึ่งซึ่งมีเจดีย์รูปทรงโดดเด่นตั้งอยู่ เจดีย์ของวัดมีลักษณะเป็นเหลี่ยมุมมีส่วนของมุขทางเข้าที่คลุมด้วยหลังคาทรงจั่ว ( gable roof ) ยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน องค์เจดีย์เป็นการซ้อนชั้นกันของหลังคาทรงปั้นหยาหลายชั้นมีสีขาวสลับสีทองโดดเด่นเป็นสง่าท่ามกลางตึกแถวร้านค้าสูงประมาณ 3-4 ชั้นในย่านแห่งนี้ ตึกแถวแต่ละตึกถูกประดับประดาด้วยวัสดุตกแต่งแบบจีน มีการประดับธงในตึกแถวร้านค้าต่างๆ จุดเด่นอีกอย่างของย่านนี้คือการที่ร้านค้าแต่ละร้านได้มีการประดับประดาตกแต่งด้วยป้ายชื่อร้านที่ยื่นออกมามากมายตลอดถนนทั้งสาย
จากโจทย์ที่ทางพี่ๆได้สรุปมาให้จะพบว่าเป็นข้อสอบการวาดภาพทัศนียภาพที่เน้นในการเล่าเรื่องราวเเละรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมอีกเช่นเคย โดยมีการพูดถึงรายละเอียดของผู้คนน้อยมาก ดังนั้น การฝึกฝนสังเกตุรายละเอียดและการจัดวางของสถาปัตยกรรมในย่านต่างๆถือเป็นการฝึกฝนที่สำคัญมากในปัจจุบัน อย่างในโจทย์ครั้งนี้ หากใครที่มีการฝึกหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของสถาปัตยกรรมน้อย จะถือเป็นโจทย์ที่หินพอควร เพราะเนื้อหากว่า 90% ของภาพนั้นคือสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจน
พี่ๆจาก time machine studio จึงมีภาพตัวอย่างการทำโจทย์ข้อนี้มาฝากเพื่อเป็นแนวทางเบื้อต้นให้น้องๆนำไปฝึกฝนต่อยอดกันต่อไป จากภาพจะเห็นการพยายามใช้รายละเอียดและ texture อาคารที่คล้ายกันในการสร้างบรรยากาศจีนที่มีรายละเอียดเยอะแต่วาดด้วยเวลาที่ไม่มาก การจัดองค์ประกอบของคนระยะหน้า ซุ้มประตู และ เจดีย์จีน ที่ทั้ง 3 ล้วนอยู่ในตำแหน่งจุดเด่นตามหลักการการจัดองค์ประกอบ จะช่วยสร้างระยะและความแน่นของภาพได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องวาดอาคารหลายหลังนั่นเอง สุดท้ายการใช้ทัศนียภาพแบบสองจุดของพี่ๆช่วยสร้างมิติในการลงเงาให้แก่ภาพโดยรวมและสร้างการรวมสายของไปสู่จุดเด่นอย่างซุ้มประตูด้วยเช่นกัน
จากการที่เราได้วิเคราะห์ข้อสอบการเขียนภาพทัศนียภาพในปีนี้กันเเล้วพี่เชื่อว่าน้องๆหลายคนคงจะหันไปฝึกฝนและสังเกตุเรื่องราวของที่ว่างและสถาปัตยกรรมที่อยู่รอบๆตัวของเรากันมากขึ้น เนื่องจากนอกจากจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการทำข้อสอบความถนัดสถาปัตย์เเล้ว ยังเป็นพื้นฐานที่ดีในการเป็นสถาปนิกที่ดีอีกด้วย
รีวิวการสอบ part ที่ 3 ข้อที่ 2 ( complex isometric )
ข้อสอบชุดนี้โจทย์มาในลักษนะของบ้านหลังเล็กๆที่ไม่มีความซับซ้อนและเข้าใจได้ง่าย ซึ่งถือว่ามีความง่ายกว่าทุกๆปี แต่สิ่งที่น่าสนใจของข้อสอบชุดนี้คือเริ่มมีการให้ผังและรุปตัดของบ้านประกอบในโจทย์มาให้ด้วย ซึ่งต่างจากปีก่อนๆที่จะให้มาเพียงแค่ รูปด้าน top front side นั่นเอง ทำให้หลายๆคนที่ทำข้อสอบชุดนี้อาจจะพลาดเนื้อหาบางอย่างกันไปไม่น้อย โดยในโจทย์จะเป็นบ้านที่ส่วนหลังบ้านมีการยุบเข้าเป็นทางเข้าบ้านอยู่ส่วนหนึ่งซึ่งมองเห็นได้จากภายนอกด้าน side ใน isometric แต่รายละเอียดการยุบเข้านี้จะสามารถมองออกได้เเค่จากในผังพื้นเพียงรูปเดียวเท่านั้น หากใครที่ประมาทคิดว่าข้อนี้มีความง่ายๆหมูและรีบทำโดยไม่ได้สนใจภาพผังพื้นเเล้วอาจจะลืมรายละเอียดส่วนหลังบ้านนี้อย่างแน่นอน
จากภาพจะเห็นได้ว่าทางพี่ๆมีการวาดโดยแสดงส่วนของทางเข้าบ้านดังกล่าวไว้ทางขวาสุดของบ้าน หากสังเกตดีๆจะพบว่ามีเสาลอยอยู่ที่มุมของพื้นที่ทางเข้าอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งก็จะทราบได้จากการมองที่ภาพผังพื้นได้อย่างเดียวเช่นเดียวกัน ดังนั้นพี่ๆเชื่อว่าหากใครที่ได้ใส่ใจเเละสังเกตุที่ภาพผังพื้นเเล้วละก็ ไม่น่าพลาด 20 คะแนนในข้อนี้อย่างแน่นอนครับ ข้อสอบชุดนี้แสดงให้เห็นถึงแนวทางในการลดความซับซ้อนของโจทย์ แต่ไปเพิ่มการทำงานที่อาศัยการใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้น ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญเเละเป็นหนึ่งในแนวทางใหม่ทางหนึ่งที่เราพบเจอในการสอบ CUTAD ที่เป็นประโยชน์อย่างมากเลยทีเดียว